พ.ร.บ. รถยนต์ สำคัญอย่างไร มือใหม่ต้องรู้!
27 ธันวาคม 2022
ผู้ชม: 1167 คน

 

พ.ร.บ. รถยนต์ สำคัญอย่างไร มือใหม่ต้องรู้!

 

           เจ้าของรถยนต์หลาย ๆ คน มักจะจำสับสนระหว่างการทำ พ.ร.บ.รถ กับการทำประกันภัยรถยนต์ประเภทต่าง ๆ เช่น ประกันรถยนต์ชั้น 1 ชั้น 2 หรือชั้น 3 ซึ่งจริง ๆ แล้วมีความแตกต่างกันอยู่พอสมควร เพราะ พ.ร.บ.รถยนต์นั้นเป็นข้อบังคับตามที่กฎหมายกำหนดเอาไว้ว่า รถทุกคันต้องมีและต้องต่ออายุ พ.ร.บ. เป็นประจำทุกปี เช่นเดียวกับการต่อภาษีทะเบียนรถยนต์ ส่วนประกันภัยประเภทต่าง ๆ นั้นเป็นการทำประกันโดยสมัครใจ จะทำหรือไม่ทำก็ได้ขึ้นอยู่กับเจ้าของรถแต่ละคัน วันนี้เราจะมาไขข้อข้องใจกันว่า พ.ร.บ. รถ สำคัญอย่างไร มือใหม่ต้องรู้!

 

พ.ร.บ. รถยนต์คืออะไร

           พ.ร.บ.รถยนต์ หรือพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 เป็นกฎหมายสำคัญที่กำหนดให้รถทุกคันต้องทำประกันภัยรถยนต์ เพื่อที่จะสามารถคุ้มครองผู้ประสบอุบัติเหตุจากการใช้รถได้ทันที โดยไม่คำนึงว่าผู้ประสบเหตุเป็นผู้ที่กระทำความผิดหรือไม่ กรณีที่รถคันไหนไม่มี พ.ร.บ.รถยนต์ หรือไม่ได้ต่อ พ.ร.บ.รถยนต์ ประจำปี จะส่งผลให้ไม่สามารถต่อภาษีรถยนต์ในปีนั้น ๆ ได้ โดยกรณีต่ออายุ พ.ร.บ.นั้นสามารถซื้อล่วงหน้าได้สูงสุดไม่เกิน 90 วัน

 

ไม่ทำ พ.ร.บ.รถ มีความผิดหรือไม่

           แน่นอนว่าเนื่องจาก พ.ร.บ.รถยนต์ เป็นประกันภาคบังคับ ที่นอกจากไม่สามารถต่อทะเบียนรถยนต์ได้แล้ว หากไม่มี พ.ร.บ.รถจะมีโทษปรับตามรายละเอียดดังนี้

  • กรณีเจ้าของรถไม่ทำ พ.ร.บ. รถยนต์ จะมีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท
  • กรณีไม่ใช่เจ้าของรถ นำรถคันที่ไม่ได้ทำหรือไม่ได้ต่ออายุ พ.ร.บ. รถยนต์ ไปใช้งาน จะมีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท
  • กรณีเป็นเจ้าของรถนำรถคันที่ไม่ได้ทำ หรือไม่ได้ต่ออายุ พ.ร.บ. รถยนต์ไปใช้งาน จะถือว่าผิดตามกฎหมายทั้ง 2 กระทง จะมีโทษปรับรวมกันไม่เกิน 20,000 บาท

 

..บ.รถคุ้มครองอะไรบ้าง

พ.ร.บ.รถยนต์ แบ่งการคุ้มครองออกเป็น 2 ลักษณะ คือ

  1. คุ้มครองทันทีโดยไม่รอพิสูจน์ โดย พ.ร.บ.รถ จะให้ความคุ้มครองผลจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น โดยไม่ต้องพิสูจน์ว่าใครเป็นฝ่ายถูกฝ่ายผิด พ.ร.บ. รถ จะจ่ายค่าชดเชยเบื้องต้น เช่น หากบาดเจ็บจะได้รับค่ารักษาพยาบาล หากเสียชีวิตจะได้รับค่าปลงศพ โดยจะมีรายละเอียดในการรับค่าชดเชย ดังนี้
  • กรณีบาดเจ็บ ต้องเข้ารับการรักษาพยาบาล พ.ร.บ.รถ จะช่วยชดเชยได้สูงสุดไม่เกิน 30,000 บาทต่อคน และถ้าหากระหว่างรักษาตัวเกิดสูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพ หรือเสียชีวิต จะได้รับเงินชดเชยไม่เกิน 65,000 บาทต่อคน
  • กรณีสูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพถาวร หรือเสียชีวิต สามารถชดเชยค่าเสียหายได้ไม่เกิน 35,000 บาทต่อคน

 

1. คุ้มครองหลังจากที่ได้รับทราบผลพิสูจน์ความถูก-ผิดจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น พ.ร.บ.รถ จะจ่ายค่าสินไหมทดแทนสำหรับฝ่ายถูก โดยจะได้รับการชดเชยความเสียหายในเบื้องต้น รวมไปถึงค่าสินไหมทดแทน โดยมีรายละเอียดต่าง ๆ ดังนี้

  • ค่ารักษาพยาบาล จ่ายสูงสุดไม่เกิน 80,000 บาทต่อคน
  • ค่าชดเชยกรณีต้องเข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาล หรือเป็นผู้ป่วยใน จะได้รับการชดเชยรายได้ไม่เกิน 200 บาทต่อวัน และในระยะเวลารวมกันแล้วไม่เกิน 20 วัน
  • กรณีสูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพถาวร หรือเสียชีวิต จะได้รับค่าชดเชยไม่เกิน 500,000 บาทต่อคน
  • โดยวงเงินของความคุ้มครองต่อครั้งทั้งหมด รวมแล้วไม่เกิน 5,000,000 บาทต่อคน

 

การเบิกค่าเสียหายตาม พ.ร.บ.รถยนต์ ต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง

           หลังจากเกิดอุบัติเหตุแล้ว ขั้นตอนการทำเรื่องเบิกค่าชดเชย ค่าสินไหมทดแทนด้านต่าง ๆ ตาม พ.ร.บ.รถ จำเป็นจะต้องมีเอกสารสำคัญเพื่อเป็นการยืนยันตัวตน และเพื่อให้บริษัทประกันภัยได้ใช้เป็นเอกสารหลักฐานสำหรับตรวจสอบความถูกต้องที่เกิดขึ้น โดยต้องใช้เอกสาร ดังนี้

  1. สำเนาใบบันทึกประจำวันของเจ้าหน้าที่ตำรวจ
  2. ใบเสร็จรับเงินจากโรงพยาบาล
  3. ใบรับรองแพทย์
  4. สำเนาบัตรประชาชน
  5. สำเนาทะเบียนบ้าน

           ทั้งนี้ เมื่อบริษัทประกันได้รับคำร้องและเอกสารอย่างครบถ้วนถูกต้องแล้ว ในกรณีการจ่ายค่าชดเชยโดยไม่ต้องรอการพิสูจน์ความถูกผิดนั้น บริษัทประกันจะสามารถดำเนินการจ่ายได้ภายใน 7 วัน และสิ่งสำคัญที่ควรทราบคือการขอใช้สิทธิ์ตาม พ.ร.บ.รถยนต์นั้น สามารถทำได้ภายใน 180 วัน หลังจากวันที่เกิดอุบัติเหตุ

           จะเห็นได้ว่า พ.ร.บ. รถ นั้นเป็นสิ่งจำเป็น เพราะเป็นข้อบังคับตามกฎหมายที่รถยนต์ทุกคันจะต้องมี และเจ้าของรถทุกคันมีหน้าที่ต้องต่อ พ.ร.บ.เป็นประจำทุก ๆ ปี เพื่อเอาไว้ใช้คุ้มครอง ช่วยเหลือบุคคลในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ ได้รับผลกระทบที่เกิดจากรถยนต์ ช่วยเป็นหลักประกันในการดูแลให้ผู้บาดเจ็บได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ปัจจุบันมีทางเลือกดี ๆ ในการซื้อ พ.ร.บ.รถยนต์ โดยสามารถซื้อออนไลน์อย่างสะดวกรวดเร็วได้ง่าย ๆ กับ TIPINSURE  เพียงแค่ 4 ขั้นตอน ในราคาเริ่มต้นเพียง 569 บาทเท่านั้น และสามารถรอรับกรมธรรม์ทางอีเมล เพื่อนำไปต่อภาษีรถยนต์ได้ทันที

 

#Tag: