รู้ไว้! เมื่อประสบอุบัติเหตุรถชน ได้ค่าชดเชยอะไรบ้าง
สำหรับคนมีรถยนต์ ย่อมต้องทำ พ.ร.บ. รถยนต์ หรือซื้อประกันเอาไว้บ้างเผื่อเอาไว้ในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุไม่คาดฝัน เช่น รถชน ไม่ว่าจะเป็นการชนแบบมีคู่กรณีหรือไม่มีคู่กรณีก็ตาม เพื่อจะได้สามารถเบิกค่าชดเชยผ่อนหนักให้เป็นเบาได้ ด้วยเหตุนี้คนที่มีรถยนต์และพ.ร.บ. กับประกันภัยเอาไว้จึงควรศึกษาเพิ่มเติมให้ทราบว่า เมื่อเกิดเหตุรถชน สามารถเบิกค่าชดเชยอะไรได้บ้าง
ค่าชดเชยต่างๆ ที่จะได้รับเมื่อเกิดอุบัติเหตุนั้นมาจากหลายส่วน โดยเบื้องต้น ให้เบิกค่าชดเชยต่างๆ จาก พ.ร.บ. รถยนต์เป็นอันดับแรก จากนั้นจึงค่อยเบิกส่วนต่างที่เหลือจากประกันภัยรถยนต์ประเภทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นประกันภัยประเภท 1, 2, 3 จากบริษัทประกันภัยอีกที
ค่าชดเชยที่สามารถเบิกได้จาก พ.ร.บ. รถยนต์
พ.ร.บ. รถยนต์นับเป็นประกันภัยภาคบังคับที่รถยนต์ทุกคันต้องทำเอาไว้ ดังนั้นเมื่อเกิดอุบัติเหตุรถชนและต้องเบิกค่าชดเชย สามารถเบิกค่าชดเชยจาก พ.ร.บ. รถยนต์ได้ก่อนเป็นอันดับแรก ซึ่งค่าชดเชยของ พ.ร.บ. รถยนต์นั้นจะคุ้มครองเฉพาะคน ก็คือในกรณีบาดเจ็บหรือเสียชีวิตเท่านั้น สามารถเบิกค่าชดเชยได้ดังนี้
สำหรับค่าเสียหายเบื้องต้น จะได้รับทันทีโดยไม่ต้องพิสูจน์ความผิด ดังนี้
- ค่ารักษาพยาบาล พ.ร.บ. จะจ่ายให้ตามจริง โดยจ่ายให้สูงสุดไม่เกิน 30,000 บาท หากต่อมาพิการหรือทุพพลภาพ จะจ่ายเพิ่มเติมโดยรวมแล้วไม่เกิน 65,000 บาทต่อคน
- ในกรณีสูญเสียอวัยวะหรือทุพพลภาพถาวรทันทีหลังเกิดอุบัติเหตุ พ.ร.บ. จะจ่ายให้ไม่เกิน 35,000 บาทต่อคน
- ในกรณีที่เกิดการเสียชีวิต หากเสียชีวิตทันทีหลังจากเกิดอุบัติเหตุ พ.ร.บ. จะจ่ายค่าทำศพเป็นจำนวน 35,000 บาทต่อคน แต่หากเสียชีวิตภายหลังจะจ่ายให้แบบเหมารวมกับค่ารักษาพยาบาลไม่เกิน 65,000 บาทต่อคน
สำหรับค่าเสียหายส่วนเกินที่สามารถเบิกได้จาก พ.ร.บ. รถยนต์ จะมีการจ่ายชดเชยให้หลังจากพิสูจน์ความผิดแล้ว โดยบริษัทประกันของฝ่ายที่กระทำผิดจะชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ประสบภัยหรือทายาท ดังนี้
- ในส่วนของค่ารักษาพยาบาลกรณีได้รับบาดเจ็บ จะมีการจ่ายเงินชดเชยรวมค่าสินไหมทดแทนให้ไม่เกิน 80,000 บาท
- ในกรณีสูญเสียอวัยวะ ได้แก่ มือ แขน เท้า ขา ตา ตั้งแต่สองอย่างหรือสองข้างขึ้นไป หรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง จะมีการจ่ายชดเชยรวมกับค่ารักษาพยาบาลสูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท
- ในกรณีสูญเสียอวัยวะ ได้แก่ หูหนวก เป็นใบ้ เสียความสามารถในการพูด สูญเสียอวัยวะสืบพันธุ์ มือ แขน ขา เท้า ตา หนึ่งอย่างหรือหนึ่งข้าง จะจ่ายชดเชยรวมกับค่ารักษาพยาบาลสูงสุดไม่เกิน 250,000 บาท
- ในกรณีทุพพลภาพถาวร จะมีการจ่ายเงินชดเชยรวมกับค่ารักษาพยาบาลสูงสุดไม่เกิน 300,000 บาท
- กรณีเสียชีวิต จะมีการจ่ายเงินชดเชยรวมกับค่ารักษาพยาบาล (ในกรณีเสียชีวิตภายหลัง) สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท
- นอกจากนี้จะมีการจ่ายเงินชดเชยเมื่อต้องนอนโรงพยาบาล (ผู้ป่วยใน) โดยจ่ายชดเชยให้วันละ 200 บาท รวมไม่เกิน 20 วัน
ค่าชดเชยที่สามารถเบิกได้จากประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ
ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ หรือที่เรารู้จักกันในชื่อประกันภัยชั้น 1, ชั้น 2, ชั้น 3 หรือประกันภัยประเภท 1, ประเภท 2, ประเภท 3 นั้น แต่ละบริษัทจะให้ความคุ้มครองในรายละเอียดหลักเหมือนกัน แต่ในวงเงินที่ต่างกัน ซึ่งค่าชดเชยที่สามารถเบิกได้ในกรณีรถชนนั้น มีดังนี้
- ค่ารักษาพยาบาล ในส่วนที่เกินจากวงเงินของ พ.ร.บ. รถยนต์ จะสามารถมาเบิกจ่ายเพิ่มเติมได้ตามจำนวนที่ระบุไว้ในกรมธรรม์
- ค่าทนทุกข์ทรมานจากอาการบาดเจ็บ จะสามารถมาเบิกจ่ายเพิ่มเติมได้ตามจำนวนที่ระบุไว้ในกรมธรรม์
- ค่าชดเชยจากสินทรัพย์ที่เสียหรือสูญหายเมื่อเกิดอุบัติเหตุรถชน จะสามารถมาเบิกจ่ายเพิ่มเติมได้ตามจำนวนที่ระบุไว้ในกรมธรรม์
- ค่าชดเชยความเสียหายอื่นๆ ที่เกิดขึ้นขณะรักษาตัว เช่น ค่าขาดโอกาสในการเดินทางหรือการทำงาน ค่าขาดไร้อุปการะ ค่าชดเชยรายได้ ค่าขาดประโยชน์ระหว่างซ่อม จะสามารถมาเบิกจ่ายเพิ่มเติมได้ตามจำนวนที่ระบุไว้ในกรมธรรม์
สำหรับประกันประเภท 1 หรือประกันภัยรถยนต์ชั้น 1 นั้น นอกจากค่าชดเชยข้างต้นที่ได้กล่าวไปแล้ว ยังสามารถเบิกค่าชดเชยเนื่องจากอุบัติเหตุรถชนได้เพิ่มเติม ดังนี้
- ค่าประกันตัวผู้ขับขี่ในกรณีที่ถูกควบคุมตัวจากความผิด
- ค่าซ่อมแซมความเสียหายที่เกิดกับรถยนต์คันที่เอาประกัน ไม่ว่าจะมีคู่กรณีหรือไม่ก็ตาม
ในส่วนของรายละเอียดเพิ่มเติมและวงเงินคุ้มครองนั้น สามารถเช็กได้กับกรมธรรม์ประกันภัยที่คุณทำเอาไว้ว่าได้รับความคุ้มครองในวงเงินเท่าไร และจะได้ค่าชดเชยแต่ละส่วนเท่าไรถ้าหากเกิดอุบัติเหตุรถชน ซึ่งค่าชดเชยดังกล่าวจะขึ้นอยู่กับจำนวนเบี้ยประกันที่คุณจ่ายไปว่าได้รับวงเงินที่เท่าไร
เอกสารที่สำคัญที่ต้องใช้เมื่อเบิกค่าชดเชยต่างๆ
เอกสารในการเบิกค่าชดเชยต่างๆ นั้นอาจใช้แตกต่างกันไปเล็กน้อย แต่โดยรวมแล้วเอกสารจำเป็นเมื่อต้องการเบิกค่าชดเชยจากกรณีอุบัติเหตุรถชนนั้น มีดังนี้
- แบบฟอร์มการเรียกร้องสินไหมทดแทนของบริษัทประกันภัยที่คุณทำประกันเอาไว้
- ใบเสร็จรับเงินฉบับจริง และสำเนา ไม่ว่าจะเป็นจากสถานพยาบาล หรืออู่ซ่อมรถ แจ้งรายการค่าใช้จ่ายอย่างละเอียดและมีลายเซ็นรับรอง
- สำเนาบันทึกประจำวันของตำรวจ (กรณีอุบัติเหตุ) ซึ่งต้องมีการรับรองสำเนาจากตำรวจ
- ใบรับรองแพทย์ที่ระบุวันที่นอนโรงพยาบาล อาการ บริเวณที่บาดเจ็บ และสาเหตุ (ในกรณีที่เจ็บป่วยหรือบาดเจ็บ)
- บัตรประชาชนของผู้เอาประกันภัยและผู้รับผลประโยชน์ พร้อมสำเนา
- ทะเบียนบ้านต้นฉบับของผู้เอาประกันภัย และผู้รับผลประโยชน์
- สำเนาทะเบียนรถ (กรณีอุบัติเหตุ)
- สำเนาหน้าสมุดบัญชีเงินฝากธนาคาร
- เอกสารอื่นๆ เช่น สำเนารายงานการชันสูตรพลิกศพ ภาพถ่ายอุบัติเหตุ สำเนาสูติบัตร สำเนาหลักฐานการเปลี่ยนชื่อนามสกุล (แล้วแต่กรณี)
ทั้งนี้หากมีข้อสงสัยเพิ่มเติม สามารถศึกษาได้จากกรมธรรม์ของคุณเอง หรือใครยังไม่มี พ.ร.บ. และประกันรถยนต์สามารถเช็กรายละเอียดและราคาได้เลยที่ www.TIPINSURE.com