แผ่นดินไหว รู้ไว้ เรารอด
31 มีนาคม 2025
ผู้ชม: 22 คน

แผ่นดินไหว รู้ไว้ เรารอด

แผ่นดินไหวครั้งนี้! รุนแรงสุดในรอบ 100 ปี จากเหตุการณ์แผ่นดินไหว เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา จุดเริ่มจากประเทศเมียนมา เมืองมัณฑะเลย์ สะเทือนมาถึงประเทศไทยในช่วงเวลาประมาณ 13.20 น. ความรุนแรง 7.7 แมกนิจูด ที่มีศูนย์กลางแผ่นดินไหวลึกลงไปในใต้ดินถึง 10 กิโลเมตร โดยสาเหตุเกิดจากรอยเลื่อนสะกาย สร้างความเสียหายรุนแรงขยายผลกระทบไปถึงกรุงเทพฯ ของประเทศไทย ซึ่งอยู่ห่างออกไปว่า 1,000 กิโลเมตร

TIPINSURE ชวนมาทำความรู้จักแผ่นดินไหวคืออะไร เกิดจากสาเหตุอะไร พร้อมวิธีรับมือเอาชีวิตรอดจากแผ่นดินไหว 

 

แผ่นดินไหวคืออะไร และเกิดขึ้นได้อย่างไร

แผ่นดินไหว (Earthquake) คือ เหตุการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติ ที่เกิดจากการสั่นสะเทือนของพื้นผิวโลก การเคลื่อนที่ของแผ่นเปลือกโลกที่เกิดการโก่งตัวหรือคดโค้งอย่างฉับพลัน พลังงานที่ถูกปล่อยออกมาอย่างรวดเร็วนี้จะแผ่กระจายออกเป็นคลื่น ทำให้พื้นดินสั่นไหวในช่วงเวลาสั้น ๆ แต่สามารถสร้างความเสียหายได้มหาศาล เช่น ตึกสูง อาคาร บ้านเรือน สะพานถล่ม และยังอาจทำให้เกิดคลื่นสึนามิในพื้นที่ใกล้ทะเลได้ ซึ่งการเกิดแผ่นดินไหวจะไม่สามารถบอกเวลาและสถานที่ที่จะเกิดขึ้นล่วงหน้าได้ 

 

ความรุนแรงแผ่นดินไหว

กรมอุตุนิยมวิทยา เผยข้อมูล "ขนาดและความรุนแรง" ของแผ่นดินไหวต้องสั่นสะเทือนขนาดไหนถึงจะรู้สึก หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวในกรุงเทพฯ

ความรุนแรงของแผ่นดินไหวสามารถวัดได้ทั้งขณะเกิดและหลังเกิด เช่น ความรู้สึกของผู้คน ลักษณะวัตถุ อาคารเสียหาย หรือสภาพภูมิประเทศที่เปลี่ยนแปลง โดยขนาดและความสัมพันธ์โดยประมาณกับความสั่นสะเทือนใกล้จุดศูนย์กลางตามมาตราริคเตอร์
 

  • ความรุนแรง 1.0 - 2.9 เกิดการสั่นไหวเล็กน้อย ผู้คนเริ่มรู้สึกถึงอาการสั่นไหว บางครั้งรู้สึกเวียนศีรษะ 
  • ความรุนแรง 3.0-3.9 เกิดการสั่นไหวเล็กน้อย ผู้คนที่อยู่ในอาคารรู้สึกเหมือนรถไฟวิ่งผ่าน
  • ความรุนแรง 4.0-4.9 เกิดการสั่นไหวปานกลาง ผู้ที่อาศัยอยู่ทั้งภายในอาคารและนอกอาคาร รู้สึกถึงการสั่นสะเทือน วัตถุที่ห้อยแขวนมีการแกว่งไปมา 
  • ความรุนแรง 5.0-5.9 เกิดการสั่นไหวรุนแรงเป็นบริเวณกว้าง เครื่องเรือน และวัตถุมีการเคลื่อนที่ 
  • ความรุนแรง 6.0-6.9 เกิดการสั่นไหวรุนแรงมาก อาคารเริ่มเสียหาย พังทลาย
  • ความรุนแรง 7.0 ขึ้นไป เกิดการสั่นไหวอย่างร้ายแรง อาคาร สิ่งก่อสร้างได้รับความเสียหาย อย่างมาก แผ่นดินเกิดการแยกตัว วัตถุที่อยู่บนพื้นถูกเหวี่ยงกระเด็น 

 

วิธีเอาชีวิตรอดจากแผ่นดินไหว

  1. สิ่งแรกที่คุณควรทำคือการตั้งสติ พยายามคุมสติให้อยู่ อย่าตื่นตกใจหรือตื่นตระหนก
  2. หากอยู่บนอาคารสูง หรือภายในอาคาร ห้ามใช้ลิฟต์เด็ดขาด ให้รีบเคลื่อนย้ายออกจากตึกอาคารทันที โดยลงทางบันไดหนีไฟไปยังประตูทางออกโดยเร็วที่สุด 
  3. รีบหาที่กำบังโดยทันที เช่น หลบใต้โต๊ะหรือเฟอร์นิเจอร์ที่มีความแข็งแรงสามารถรับน้ำหนักสิ่งของที่อาจหล่นใส่ได้ การหลบใต้โต๊ะจะช่วยป้องกันศีรษะและลำตัวจากการถูกวัตถุตกใส่
  4. ห้ามยืนใกล้หน้าต่าง เพราะเป็นจุดเปราะบางอาจเกิดแตกร้าวเมื่อเกิดแรงสั่นสะเทือนรุนแรง และห้ามอยู่ใกล้ ตู้ ชั้นวางของที่ไม่ได้ยึดแน่นกับผนังอาจล้มทับคุณได้ ควรอยู่ให้ห่างจากสิ่งเหล่านี้ให้มากที่สุด
  5. คนส่วนใหญ่จะตื่นตกใจและพยายามวิ่งออกนอกอาคาร ทำให้มีการเบียดเสียด เกิดอุบัติเหตุสะดุด ล้มทับได้ คุณควรค่อยอพยพออกอย่างระมัดระวัง
  6. ออกห่างจากอาคาร ต้นไม้ เสาไฟฟ้า หรือป้ายโฆษณา วัสดุเหล่านี้อาจะหล่นทับคุณได้ หากมีการสั่นสะเทือนรุนแรง ควรรีบเคลื่อนย้ายตัวเองไปยังพื้นที่โล่ง
  7. อยู่ในพื้นที่โล่งจนกว่าการสั่นไหวจะหยุดลง และไม่ควรรีบเข้าไปในอาคารจนกว่าจะแน่ใจว่าปลอดภัยและไม่มีแรงสั่นไหวซ้ำ (Aftershock)
  8. หากคุณขับรถยนต์อยู่ ค่อยๆ ชะลอรถ จอดเข้าข้างทาง หรือจอดในที่โล่ง หลีกเลี่ยงการจอดใต้สะพานลอยหรืออุโมงค์ หรือบริเวณที่มีต้นไม้หรือเสาไฟฟ้าขนาดใหญ่ เพราะอาจล้มลงมาทับ
  9. อยู่ในพื้นที่ชายฝั่งทะเล ให้รีบขึ้นที่สูงทันที เพราะแผ่นดินไหวที่มีศูนย์กลางอยู่ในทะเลหรือใกล้ชายฝั่งอาจเป็นสัญญาณเตือนของการเกิดคลื่นสึนามิ
  10. ติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด เพื่อฟังคำแนะนำฉุกเฉินจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

 

หลังเหตุการณ์แผ่นดินไหว ควรดูแลตัวเองอย่างไร สำหรับผู้มีโรคประจำตัว 

  1. เช็กอาการของตัวเอง หากมีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน หรือความดันโลหิตสูง ให้สังเกตอาการผิดปกติ เช่น เวียนศีรษะ ใจสั่น เหนื่อยง่าย เจ็บหน้าอก  หรืออ่อนแรง ควรรีบปรึกษาแพทย์ 
  2. ดูยาและอุปกรณ์การแพทย์ ตรวจสอบว่ายาประจำตัวอยู่ในสภาพดีและเพียงพอ หากสูญหายหรือเสียหายควรรีบติดต่อแพทย์ทันที 
  3. หลีกเลี่ยงความเครียด หลังจากเกิดเหตุการณ์ส่งผลกระทบต่อสภาวะจิตใจอย่างมาก ไม่ว่าจะความวิตกกังวล ความกลัว หรือความรู้สึกไม่ปลอดภัย การดูแลจิตใจของตัวเองในช่วงนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะความเครียดอาจกระตุ้นอาการของโรค เช่น ความดันโลหิตสูงหรือโรคหัวใจ
  4. รักษาระดับน้ำและอาหาร ดื่มน้ำให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีโซเดียมหรือไขมันสูง โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคไตหรือเบาหวาน 
  5. หากพบความผิดปกติควรเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์ อย่างรวดเร็ว 

 

จากเหตุการณ์แผ่นดินไหว ทำให้หลายคนรักตัวเองมากขึ้น อยากเพิ่มความมั่นคงในการใช้ชีวิต อย่างการทำประกันไม่ว่าจะประกันอัคคีภัยบ้าน ประกันอุบัติเหตุ เพื่อมารองรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ถึงแม้ภัยธรรมชาติจะคาดการณ์ไม่ได้ แต่คุณสามารถวางแผนรับมือให้ดีที่สุดได้ ให้ TIPINSURE ช่วยดูแลคุณ สอบถามรายละเอียดได้ที่ TIPINSURE.COM  หรือโทร. 1736 พร้อมยินดีให้คำปรึกษาตลอด 24 ชั่วโมง

 

ขอบคุณข้อมูลจาก : tnnthailand
ขอบคุณข้อมูลจาก : phyathai 3 hospital
ขอบคุณข้อมูลจาก : กรมอุตุนิยมวิทยา
ขอบคุณข้อมูลจาก : กรมทรัพยากรธรณีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

#Tag: