ต้องรู้! ก่อนต่อภาษีรถยนต์ประจำปี รถอายุกี่ปีต้องตรวจสภาพรถ
07 พฤศจิกายน 2024
ผู้ชม: 230 คน

ต้องรู้! ก่อนต่อภาษีรถยนต์ประจำปี รถอายุกี่ปีต้องตรวจสภาพรถ


ไม่ว่าจะเป็นรถใหม่ป้ายแดงหรือรถมือสอง การตรวจสภาพรถยนต์เป็นเรื่องที่ต้องหมั่นตรวจเช็กสภาพตามระยะอย่างสม่ำเสมอ และเมื่อใช้งานไปสักระยะหนึ่งก็ยังจำเป็นต้องตรวจเช็กการใช้งานอีกหนึ่งอย่างที่สำคัญมากๆ นั่นก็คือการตรวจสภาพรถก่อนต่อภาษีประจำปีและต่อ พ.ร.บ เพื่อเป็นการรับรองว่ารถยนต์หรือรถจักรยานยนต์นั้นๆ ยังมีสภาพที่พร้อมใช้งานตามระเบียบข้อบังคับของกรมการขนส่ง 

แต่จะมีรายละเอียดขั้นตอนอะไรบ้าง? รถยนต์อายุกี่ปีต้องตรวจสภาพรถ? TIPINSURE หาข้อมูลมาไว้ให้แล้ว

 

ทำไมต้องตรวจสภาพก่อนเสียภาษีประจำปี

การตรวจสภาพรถเพื่อต่อภาษีรถยนต์เพื่อเป็นการรับรองว่ารถยนต์ของคุณยังมีสภาพที่พร้อมใช้งานตามระเบียบข้อบังคับของกรมการขนส่ง ป้องกันการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนและเพื่อสร้างความปลอดภัยในการขับขี่มากยิ่งขึ้น โดยผู้ขับขี่จะต้องนำใบรับรองการตรวจสภาพรถไปยื่นเป็นหลักฐานเพื่อทำการต่อภาษีประจำปี

อ้างอิงจากพระราชบัญญัติรถยนต์ พศ. 2522 ได้ระบุไว้ว่า “รถที่จะนำมาใช้ในการขนส่งตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พศ. 2522 หรือนำมาจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติรถยนตร์ พ.ศ. 2522 จะต้องมีสภาพมั่นคง แข็งแรง มีลักษณะ ขนาด และเครื่องอุปกรณ์ส่วนควบของรถ ถูกต้องตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยของผู้ขับรถ ผู้โดยสารไปกับรถคันนั้น ผู้ขับขี่รถคันอื่นๆ คนเดินถนน รวมทั้งสภาพแวดล้อมต่างๆ”


รถอายุกี่ปีต้องตรวจสภาพรถก่อนเสียภาษีประจำปี

การตรวจสภาพรถเพื่อต่อภาษีรถยนต์มีไว้สำหรับรถยนต์ที่มีอายุการใช้งานตามระยะเวลาที่ พ.ร.บ. กำหนด สำหรับอายุรถยนต์ได้กำหนดประเภทรถ ไว้ทั้งหมด 4 ประเภท ดังนี้
1. รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน ที่มีอายุการใช้งานครบ 7 ปีขึ้นไป
2. รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน ที่มีอายุใช้งานครบ 7 ปี ขึ้นไป
3. รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล ที่มีอายุใช้งานครบ 7 ปี ขึ้นไป
4. รถจักรยานยนต์ ที่มีอายุใช้งานครบ 5 ปี ขึ้นไป


การนับอายุรถเพื่อตรวจสภาพก่อนต่อภาษีประจำปี

อ้างอิงจากการจดทะเบียน โดยให้นับอายุเริ่มต้นที่วันจดทะเบียนเป็นครั้งแรก จนถึงวันครบกำหนดเสียภาษีประจำปี ยกตัวอย่างเช่น รถยนต์จดทะเบียนเมื่อปีพ.ศ. 2560 ต้องเริ่มตรวจสภาพรถยนต์ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2567 (รถยนต์ ที่มีอายุครบ 7 ปี) หรือหากเป็นรถมอเตอร์ไซค์ ถ้ารถจดทะเบียนเมื่อปี พ.ศ. 2560 จะต้องตรวจสภาพรถครั้งแรกในปี พ.ศ. 2565 (รถจักรยานยนต์ ที่มีอายุครบ 5 ปี)

 

สถานที่ตรวจสภาพรถ

  • รถที่จดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบกทุกประเภท เจ้าของรถจะนำรถไปตรวจสภาพที่สถานตรวจสภาพรถเอกชน (ตรอ.) ที่ได้รับอนุญาตจากกรมการขนส่งทางบก หรือหน่วยงานของกรมการขนส่งทางบกก็ได้
  • รถที่จดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ ประเภทรถยนต์ส่วนบุคคลและรถจักรยานยนต์ ต้องตรวจสภาพกับสถานตรวจสภาพรถ (ตรอ.) ที่ได้รับอนุญาตจากกรมการขนส่งทางบกเท่านั้น

ข้อยกเว้นสำหรับรถประเภทอื่นๆ 

  • รถยนต์ที่มีน้ำหนักรถเปล่าเกิน 1,600 กิโลกรัม จะตรวจสภาพรถที่ ตรอ. หรือหน่วยงานของกรมการขนส่งทางบกก็ได้
  • รถที่มีการดัดแปลงสภาพ รถที่เปลี่ยนสี เปลี่ยนเครื่องยนต์ รถที่มีปัญหาเกี่ยวกับเลขตัวถังหรือเลขเครื่องยนต์ รวมถึงรถที่ขาดต่ออายุทะเบียนเกิน 1 ปี ฯลฯ ให้นำรถไปตรวจสภาพที่หน่วยงานของกรมการขนส่งทางบก

 

ไม่ตรวจสภาพรถ จนภาษีรถยนต์ขาดมีโทษอะไรบ้าง เสียค่าปรับกี่เท่าไร?

หากปล่อยให้ภาษีรถยนต์ขาด ต้องเสียค่าปรับที่กรมการขนส่งทางบก โดยคิดเป็นร้อยละ 1 ต่อเดือน จากค่าภาษีรถยนต์ประจำปี ถ้าเจ้าหน้าที่ตรวจพบว่ารถยนต์ขาดภาษีจะมีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท แต่ถ้าปล่อยให้รถยนต์ขาดภาษีมากกว่า 3 ปีขึ้นไป รถยนต์ของคุณจะถูกระงับป้ายทะเบียนรถยนต์ทันที และต้องติดต่อกับกรมการขนส่งทางบกเพื่อยื่นเรื่องขอทำป้ายทะเบียนใหม่

 

ขาดต่อภาษีรถยนต์ แจ้งเคลมประกันได้ไหม ?

รถยนต์ที่ขาดต่อภาษีประจำปี ยังสามารถแจ้งเคลมประกันได้ ให้ความคุ้มครองตามกรมธรรม์ 100% เพราะทางบริษัทประกันจะยึดถือความถูกต้องระหว่างตัวรถคันที่เอาประกัน กับรายละเอียดตามเอกสาร เช่น หมายเลขทะเบียน หมายเลขเครื่อง หมายเลขตัวถัง สีและอุปกรณ์ต่างๆ หากรายละเอียดในส่วนนี้ครบถ้วนก็ถือว่าประกันรถยนต์คุ้มครองตามปกติ  ดังนั้นหากภาษีรถยนต์ขาด ก็ไม่มีผลใดๆ ต่อการเคลมประกัน

ข้อมูลจาก : กรมการขนส่งทางบก


การตรวจสภาพรถก็เพื่อต้องการให้รถของคุณอยู่ในสภาพที่พร้อมสมบูรณ์ ไม่มีปัญหาขณะขับขี่ และแนะนำว่าคุณควรทำทุกอย่างให้ถูกต้องตามกฎหมาย ชำระภาษี ต่อ พ.ร.บ. รถยนต์ตามกำหนดทุกปี เพื่อสิทธิประโยชน์ของตัวคุณเอง TIPINSURE ยินดีพร้อมให้บริการทั้งประกันภัยรถยนต์ และพ.ร.บ. ออนไลน์ คุ้มครองดูแลคุณทุกตามความต้องการ ขับขี่ด้วยความอุ่นใจ เช็คเบี้ยและสอบถามรายละเอียดได้ที่ TIPINSURE.COM หรือโทร. 1736

#Tag: