สายออกกำลังกาย ต้องระวัง! อาการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา
อุบัติเหตุหรืออาการบาดเจ็บ ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้จากการออกกำลังกาย การใช้งานร่างกายซ้ำๆ และระหว่างการเล่นกีฬาเกือบทุกชนิด ตั้งแต่บาดเจ็บเล็กน้อยไม่รุนแรงไปจนถึงบาดเจ็บจนต้องใช้เวลาพักฟื้นนาน โดยสาเหตุอาจเกิดการอักเสบ ฉีกขาดของกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น รวมถึงอาการปวดเมื่อยทั่วไป เช่น ปวดขา ปวดเข่า รองช้ำ
TIPINSURE ได้รวบรวมข้อมูลที่ควรรู้เกี่ยวกับอาการบาดเจ็บที่สามารถเจอได้ขณะออกกำลังกายหรือเล่นกีฬา และวิธีป้องกันตัวเองเพื่อให้ได้ระวังกันมากขึ้น
อาการบาดเจ็บจากการออกกำลังกายและเล่นกีฬาที่พบได้บ่อย
ตะคริว (Muscle Cramps)
อาการกล้ามเนื้อเกร็งหรือหดเกร็ง สามารถเกิดขึ้นอย่างฉับพลันที่ไม่สามารถบังคับได้ จะมีอาการปวดหรือเจ็บกล้ามเนื้อส่วนใดของร่างกายก็ได้ และจะเกิดเพียงชั่วขณะ จากนั้นจึงทุเลาลงเอง ซึ่งกล้ามเนื้อที่เกิดตะคริวบ่อยที่สุดคือ กล้ามเนื้อน่อง กล้ามเนื้อต้นขาทั้งด้านหน้าด้านหลัง กล้ามเนื้อเท้า กล้ามเนื้อหลัง
การเป็นตะคริวระหว่างออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ขาดน้ำ ความสมดุลของเกลือแร่ หรือการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ เนื่องจากระบบกลุ่มของเส้นประสาทจะสั่งการให้ร่างกายหยุดการทำงาน (หดตัว) เมื่อถูกกระตุ้นหรือออกกำลังกายมากเกินไป
การบาดเจ็บของเนื้อเยื่ออ่อน (Soft Tissue Injuries)
อาการบาดเจ็บของเนื้อเยื่ออ่อนเป็นอาการที่พบได้บ่อยพอกับการเป็นตะคริว ส่วนใหญ่เกิดจากการกระแทก ทำให้เกิดฟกช้ำบริเวณที่ได้รับการกระแทก ลักษณะภายนอก คือ มีรอยเขียว บวมช้ำ อาการอื่นๆ เช่น อาการปวด บวม แดง ร้อน ยิ่งเฉพาะในช่วง 3-5 วันแรก ร่างกายจะกระตุ้นให้เกิดการอักเสบอาจมีอาการปวดมาก โดยกิจกรรมหรือกีฬาที่ทำให้กล้ามเนื้อบาดเจ็บได้บ่อย เช่น วิ่ง ยกน้ำหนัก ฟุตบอล เป็นต้น หากมีอาการช้ำที่สามารถมองเห็นได้ชัด หมายความว่าอาการบาดเจ็บมีความรุนแรงมาก
ข้อต่อและเอ็นยึดข้อต่อบาดเจ็บ (Joint and Ligament Injuries)
อาการบาดเจ็บที่พบได้ในกีฬาที่ต้องมีการปะทะร่างกายกัน อย่างเช่น ฟุตบอล บาสเก็ตบอล หรือกีฬาที่มีการเคลื่อนไหวร่างกายทุกส่วน เช่น แบดมินตัน กอล์ฟ เป็นต้น อาการข้อต่อและเอ็นยึดข้อต่อบาดเจ็บจะเกิดขึ้นหลังจากการปะทะที่ค่อนข้างรุนแรง หรือการบิดหมุนของข้อต่อ โดยเฉพาะข้อต่อและเอ็นบริเวณหัวเข่าและข้อเท้า ซึ่งจะมีอาการภายนอกปวด บวม หรือมีข้อเคลื่อนหลุด บางคนอาจมีความรู้สึกหลวมบริเวณข้อต่อที่ได้รับบาดเจ็บ และในบางจุดหากเสียหายแล้ว อาจไม่สามารถรักษาฟื้นฟูให้เหมือนเดิมได้ 100 เปอร์เซ็นต์
กระดูกหัก
กระดูกร้าว กระดูกหักถือเป็นอาการบาดเจ็บที่พบได้บ่อย ที่เกิดจากอุบัติเหตุกระแทกหรือบิดที่รุนแรง หรือการบาดเจ็บของกระดูกซ้ำๆ ด้วยแรงกระทำต่อกระดูก โดยกระดูกหักอาจพบได้ 3 รูปแบบ คือ
- กระดูกหักแบบเปิด (Open Fracture) กระดูกจะทิ่มชั้นผิวหนังออกมา ทำให้เกิดเป็นแผลเปิด ซึ่งการหักแบบนี้มีโอกาสสูงที่จะเกิดการติดเชื้อและภาวะแทรกซ้อนตามมา
- กระดูกหักแบบปิด (Closed Fracture) กระดูกหักที่ไม่มีรอยแผล กระดูกไม่ทิ่มออกมานอกชั้นผิดหนัง ทำให้ไม่มีแผลเปิดที่ผิวหนัง เป็นการหักภายในจะพบอาการปวด บวม
- กระดูกหักจากแรงกระทำซ้ำๆ (Stress Fracture) กระดูกที่ได้รับบาดเจ็บจากแรงกระทำแบบเดิมอย่างซ้ำๆ เช่น การรับแรงกระแทกอยู่เรื่อยๆ ทำให้กระดูกส่วนนั้นหนาตัวขึ้น เกิดรอยร้าวในกระดูกและหักได้ จะพบบริเวณกระดูกหน้าแข้ง, กระดูกเท้า , กระดูกส้นเท้า, กระดูกเชิงกรานหรือคอสะโพก
แน่นอนว่าการรักษาและฟื้นฟูกระดูกที่ร้าวหรือหักเป็นเรื่องค่อนข้างยาก อาจมีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้นระหว่างการฟื้นฟู เช่น เส้นเลือดแดงบาดเจ็บจากกระดูกหัก เนื้อเยื่อ ผิวหนัง หรือแม้แต่เส้นประสาทถูกทำลาย
สัญญาณควรพบแพทย์ด่วน
- มีอาการปวด บวม แดง ร้อนบริเวณที่ปวด อาการเหล่านี้สงสัยว่าจะมีการอักเสบหรือติดเชื้อ
- บาดเจ็บรุนแรง สงสัยว่ากระดูกหัก ข้อเคลื่อน หรือการฉีกขาดของเนื้อเยื่อ
- เดินหรือเคลื่อนไหวได้ลำบาก มีผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน บ่งบอกได้ถึงความรุนแรงของอวัยวะที่บาดเจ็บ
- รู้สึกข้อติด ไม่สามารถเหยียด งอข้อต่อได้อย่างเต็มที่
ไม่ว่าจะเป็นอาการบาดเจ็บจากการออกกำลังกายหรือการเล่นกีฬา ที่มีอาการเจ็บเล็กน้อย ไปถึงเจ็บรุนแรง ล้วนแต่ต้องใช้เวลาในการรักษา หรือบางคนมีอาการรุนแรงมากจนไม่สามารถกลับมาใช้งานได้ปกติ ดังนั้น ควรป้องกันไม่ให้ตัวเองต้องบาดเจ็บ และการมีประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคลไว้ก็นับว่าเป็นเรื่องที่ควรทำ สามารถเลือกความคุ้มครองและวงเงินให้เหมาะกับตัวคุณได้ ดูรายละเอียดเพิ่มเติม หรือซื้อออนไลน์ได้เลยที่ TIPINSURE.COM หรือ โทร.1736
ขอบคุณข้อมูลจาก : kdms โรงพยาบาลเฉพาะทางกระดูกและข้อ