5 ข้อ ควรรู้ รดน้ำดำหัวอย่างถูกกาลเทศะ สร้างครอบครัวอบอุ่น
11 เมษายน 2017
ผู้ชม: 3916 คน

5 ข้อ ควรรู้ รดน้ำดำหัวอย่างถูกกาลเทศะ สร้างครอบครัวอบอุ่น

     พิธีสำคัญที่มาคู่กับวันสงกรานต์เสมอก็คือ พิธีรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ ที่ปฏิบัติสืบทอดต่อๆกันมาในประเพณีสงกรานต์ทุกปี ซึ่งเป็นประเพณีที่ส่งเสริมความอบอุ่นในสถาบันครอบครัวไทยมาอย่างยาวนาน แต่เคยรู้กันมั้ยว่าจริงๆ แล้วพิธีดีๆแบบนี้มีความเป็นมาอย่างไร และวิธีการรดน้ำผู้ใหญ่ที่ถูกต้องตามหลักประเพณี ต้องทำอย่างไรบ้าง

 

1. ทำไมต้อง รดน้ำ และ ดำหัว

ว่ากันว่า เป็นพิธีโบราณจากทางภาคเหนือของไทย คำว่า “รดน้ำดำหัว” เป็นคำพูดของชาวภาคเหนือที่จะไปรดน้ำขอขมา และขอพรจากผู้ใหญ่ที่ตนเคารพนับถือ และยังเป็นการชำระสิ่งอัปมงคลไปจากชีวิตด้วย ซึ่งในอดีตนั้นการรดน้ำคือ การอาบน้ำจริงๆ ส่วนการดำหัวก็คือการสระผมให้ผู้ใหญ่นั้นเอง โดยจะใช้น้ำส้มป่อย หรือน้ำมะกรูดในการสระผม (คำว่า “ดำหัว” เป็นภาษาล้านนาดั้งเดิมหมายถึงการสระผม) ต่อมาพิธีดังกล่าวก็แพร่กระจายไปทั่วทุกภูมิภาค

 

2. ความหมายที่แฝงอยู่ในพิธี

เป็นการแสดงความเคารพต่อบิดา มารดา ผู้ใหญ่ หรือผู้มีพระคุณ เป็นการแสดงออกถึงความกตัญญูกตเวทีของผู้น้อย และเมื่อเพื่อขอโทษขออภัยในปีที่ผ่านมา ที่ผู้น้อยอาจจะเคยล่วงเกินผู้ใหญ่ทั้งกาย วาจา ใจ ทั้งที่ตั้งใจหรือไม่ได้ตั้งใจ ไม่ว่าจะต่อหน้าหรือว่าลับหลังก็ตามรวมถึงเป็นการขอพรจากผู้อาวุโสเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตนเองด้วย

 

3. คุณค่าระหว่างวัย

ข้อสำคัญอีกข้อหนึ่งของพิธีนี้ก็คือ ช่วยสานความสัมพันธ์ให้กับคนในครอบครัว เพราะวันสงกรานต์เป็นช่วงเวลาเดียวของปี ที่คนไทยนิยมเดินทางกลับบ้านเกิดไปรวมตัวกัน หรือที่เรียกว่า วันรวมญาติ เพื่อเฉลิมฉลองวันปีใหม่ไทยร่วมกัน ปู่ย่าตายายก็จะได้เห็นหน้าลานๆ ให้ชื่นใจ ส่วนเด็กๆ เองก็จะได้มีโอกาสใกล้ชิดกับผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นเรื่องดีต่อเด็ก เพราะมีข้อมูลทางวิชาการระบุว่า การให้เด็กอยู่ใกล้ชิดกับคนแก่จะช่วยฝึกให้เด็กมีความน้อบน้อม และอ่อนโยนขึ้นได้

 

4. วิธีดำหัวแบบโบราณ VS สมัยใหม่

การรดน้ำดำหัว แบบโบราณ ซึ่งเป็นพิธีแบบสงกรานต์ล้านนา สามารถทำได้ 3 แบบ คือ

แบบที่ 1. ดำหัวตัวเอง : เป็นพิธีเสกน้ำสมป่อยด้วยคำที่เป็นสิริมงคล เช่น “สัพพทุกขา สัพพภยา สัพพโรคาวินาสันตุ” แล้วใช้นำส้มป่อยลูบศรีษะ เพื่อชำระล้างสิ่งไม่ดีออกไป

แบบที่ 2. ดำหัวผู้น้อย : เช่น ภรรยา บุตร หลาน คือ ใช้น้ำส้มป่อยลูบศรีษะภรรยา บุตร หลาน หลังจากดำหัวตนเอง หรือการที่ตนเองรับน้ำส้มป่อย จากลูกหลาน มาลูบศีรษะตนเองเสร็จแล้วสลัดใส่ศรีษะ หรือลูบศรีษะผู้ที่มาดำหัวตนเอง

แบบที่ 3 ดำหัวผู้ใหญ่ : เช่น บิดา มารดา ครู อาจารย์ พระเถระ ผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นต้น

 

     ส่วนการดน้ำดำหัวในปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไปเล็กน้อย โดยเน้นไปรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ที่ตนนับถือ และรดน้ำดำหัวพระสงฆ์ ซึ่งการรดน้ำผู้ใหญ่จะทำกันในวันสุดท้ายของเทศกาลสงกรานต์ คือวันที่ 15 เมษายน (วันผู้สูงอายุ) ส่วนการรดน้ำดำหัวพระสงฆ์จะมีพิธีการมากกว่า คือก่อนที่จะรดน้ำพระสงฆ์จะต้องรดน้ำพระพุทธรูปก่อน จากนั้นก็รับพร สามารถทำได้ทุกวันตั้งแต่วันแรกจนถึงวันสุดท้าย (13-15) ของเทศกาลสงกรานต์

 

5. ต้องเตรียมอะไรบ้าง

สิ่งที่ต้องเตรียม คือ น้ำอบไทย น้ำหอม หรือน้ำส้มป่อย เพื่อนำมาผสมกับน้ำที่จะนำไปรดน้ำผู้ใหญ่ ข้อต่อมาคือเตรียมดอกมะลิ ดอกกุหลาบ หรือดอกไม้อื่นๆที่ปลูกในบ้านก็ได้ ถัดมาต้องเตรียมขันเงิน หรือขันทองเหลือง พานข้าวตอก ดอกไม้ และธูปเทียน ข้อสุดท้ายคือ เตรียมผ้าตัดเสื้อ ผ้านุ่ง ผ้าห่มผืนใหม่ หรือของขวัญเล็กๆ น้อยๆ เพื่อมอบให้แก่ผู้ใหญ่ เป็นการต้อนรับปีใหม่ไทย

 

     ทั้งหมดคือเรื่องราวดีๆ ของการรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ ที่เป็นประเพณีอันดีงามของไทย และเป็นกิจกรรมที่สร้างสานความสัมพันธ์อันดีในครอบครัว ให้ยิ่งอบอุ่น และมีความสุขตลอดปีใหม่ไทย


ปล. กดติดตาม เพจ ทิพยประกันภัย แล้วคุณจะไม่พลาดทุกความเคลื่อนไหวบนโลกโซเชียว อินทุกกระแส ครับ 

ขอให้ๆ เพื่อนๆ เดินทางกลับบ้านโดยสวัสดิภาพ จาก ทิพยประกันภัย

 

ข้อมูล และ ภาพ : thairath.co.th

#Tag: